การรับเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ และเงินฝากประจำ
1.เงินรับฝากของสหกรณ์ มี 3 ประเภท คือ
(1) เงินฝากออมทรัพย์
(2) เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ
(3) เงินฝากประจำ
2.การเปิดบัญชีและการฝากเงิน
(1) ผู้ประสงค์จะเปิดบัญชีเงินรับฝาก ให้มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ณ สำนักงานสหกรณ์
ด้วยตนเอง และต้องยื่นหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากตามแบบของสหกรณ์ โดยมีรายการครบถ้วนตามที่ระบุไว้
ในแบบหนังสือขอเปิดบัญชีนั้น
(2) ผู้ขอเปิดบัญชีเงินฝาก ต้องให้ตัวอย่างลายมือชื่อของผู้มีอำนาจในการถอนเงิน หรือการให้คำสั่งเกี่ยวกับบัญชีที่เปิดนั้นไว้ต่อสหกรณ์ โดยใช้บัตรลายมือชื่อตามแบบของสหกรณ์
การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวอย่างลายมือชื่อของผู้มีอำนาจในการถอนเงิน จะมีผลต่อเมื่อได้แจ้งเป็นหนังสือต่อสหกรณ์ และสหกรณ์ได้ตอบรับแล้ว
ลายมือชื่อทุกกรณีเกี่ยวกับเงินฝาก ให้ใช้อักษรไทยและเขียนด้วยหมึกทั้งต้องเขียนด้วยลายมือตนเอง สหกรณ์จะไม่รับรู้การใช้ตราประทับแทนลายมือชื่อ
- ผู้ฝากคนหนึ่งสามารถเปิดบัญชีเงินฝากได้ดังนี้
(1) เงินฝากออมทรัพย์ ผู้ฝากรายหนึ่งอาจเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในสหกรณ์นี้ได้หลายบัญชี โดยจำนวนเงินฝากในบัญชีนั้นในเวลาหนึ่งเวลาใดต้องไม่น้อยกว่า 500 บาท และผู้ฝากจะส่งเงินฝากเพิ่มขึ้นเมื่อใดโดยจำนวนเท่าใดก็ได้
(2) เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ผู้ฝากรายหนึ่งอาจเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษได้ไม่เกิน
3 บัญชี โดยจำนวนเงินฝากในบัญชีนั้นในครั้งแรกต้องไม่น้อยกว่า 100,000 บาท
(3) เงินฝากประจำ ผู้ฝากรายหนึ่งอาจเปิดบัญชีเงินฝากประจำ ในสหกรณ์นี้ได้ไม่เกิน 1 บัญชีโดยจำนวนเงินฝากนั้น ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 บาท และระยะฝากต้องไม่น้อยกว่า 6 เดือน
4.การกำหนดอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการคิดดอกเบี้ย วิธีการคิดดอกเบี้ยและการจ่ายดอกเบี้ย
- สหกรณ์จะให้ดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภท ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยของสหกรณ์
ทั้งนี้ไม่เกินอัตราที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
(1) ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ให้คำนวณเป็นรายวันตามยอดเงินคงเหลือ และสหกรณ์จะนำดอกเบี้ยทบเป็นเงินต้นเข้าบัญชีเงินฝากในวันสิ้นปีทางบัญชีสหกรณ์ ให้ผู้ฝากรีบยื่นสมุดคู่ฝาก ณ สำนักงานสหกรณ์เพื่อสหกรณ์บันทึกรายการดอกเบี้ยให้
(2) ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ สหกรณ์จะคำนวณดอกเบี้ยให้เป็นรายวันตามจำนวน
ต้นเงินฝากคงเหลือ และสหกรณ์จะคิดดอกเบี้ยเงินฝากให้ผู้ฝากเงินเป็นรายเดือน โดยโอนเข้าบัญชีเงินฝาก
ออมทรัพย์ทุกวันสิ้นเดือน ให้ผู้ฝากรีบยื่นสมุดคู่ฝาก ณ สำนักงานสหกรณ์เพื่อสหกรณ์บันทึกรายการดอกเบี้ยให้
ในกรณีที่จำนวนเงินฝากออมทรัพย์พิเศษคงเหลือต่ำกว่า 100,000 บาท สหกรณ์จะไม่คิดดอกเบี้ยให้
(3) ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ สหกรณ์จะคำนวณและจ่ายดอกเบี้ยให้เมื่อถึงกำหนดระยะเวลาการฝาก สำหรับเงินฝากที่ถอนก่อนกำหนดโดยได้รับอนุญาตจากสหกรณ์ตามข้อ 15 (1) สหกรณ์จะจ่ายดอกเบี้ยให้ตามจำนวนเดือนเต็มในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์
กรณีถอนเงินฝากประจำในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน สหกรณ์จะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้
ถ้าผู้ฝากไม่ถอนเงินฝากประจำเมื่อครบกำหนดพร้อมดอกเบี้ย จนพ้นกำหนดไปอีกเจ็ดวัน
ก็เป็นอันถือว่าผู้ฝากตกลงฝากต้นเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยต่อไปอีกเท่าระยะเวลาเดิม
5.การถอนเงินฝากและการปิดบัญชี
- การถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก ต้องใช้ใบถอนเงินตามแบบของสหกรณ์
ในการถอนเงินฝาก ผู้มีอำนาจถอนเงินตามที่ได้ให้ตัวอย่างลายมือชื่อไว้ต่อสหกรณ์ ควรมารับเงิน
ที่สำนักงานสหกรณ์ด้วยตนเองในกรณีรับเงินสด โดยต้องยื่นใบถอนเงินฝากและลงลายมือชื่อตามที่ให้ตัวอย่างไว้นั้น พร้อมกับสมุดคู่ฝากต่อเจ้าหน้าที่สหกรณ์
หากมีความประสงค์ให้สหกรณ์โอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ให้กรอกข้อมูลการโอนเงินให้ครบถ้วน
โดยจะต้องเป็นชื่อเจ้าของบัญชีเท่านั้น
ถ้าผู้มีอำนาจถอนเงินฝากจะมอบให้ผู้ใดถอนเงินแทน ก็ต้องทำใบถอนเงินฝาก และต้องมอบอำนาจให้รับเงินแทนในใบถอนเงินฝากนั้นด้วย ทั้งนี้ โดยลงลายมือชื่อตามที่ได้ให้ตัวอย่างไว้แล้ว มอบให้ผู้รับมอบอำนาจยื่นใบถอนเงินฝากนั้น พร้อมด้วยสมุดคู่ฝากต่อเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ณ สำนักงานสหกรณ์ ในการนี้สหกรณ์จะเรียกหลักฐานพิสูจน์ตัวผู้รับมอบอำนาจก็ได้
เมื่อสหกรณ์ได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้วจะจ่ายเงินถอนให้ และลงรายการเงินถอนพร้อมทั้งเงินคงเหลือในสมุดคู่ฝาก แล้วคืนสมุดคู่ฝากให้ผู้ฝาก
อนึ่ง การเขียนใบถอนเงินฝากให้เขียนด้วยหมึก ถ้ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ผู้มีอำนาจถอนเงินต้องลงลายมือชื่อตามที่ได้ให้ตัวอย่างไว้กำกับด้วย
- การถอนเงินฝากแต่ละประเภท
(1) เงินฝากออมทรัพย์ ผู้ฝากจะถอนเงินฝากออมทรัพย์เมื่อใดก็ได้ จำนวนเท่าใดก็ได้
(2) เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ผู้ฝากจะถอนเงินฝากออมทรัพย์พิเศษของตนเมื่อใดก็ได้ ทั้งนี้
ไม่เกิน 2 ครั้งต่อเดือน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม โดยทำใบถอนเงินฝากออมทรัพย์พิเศษตามแบบที่สหกรณ์กำหนด
การถอนเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ เกิน 2 ครั้งต่อเดือน สหกรณ์จะคิดค่าธรรมเนียมการถอนที่เกินกว่าจำนวนครั้งที่กำหนดในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนเงินที่ถอน แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 100 บาทในการถอนแต่ละครั้ง
ในกรณีที่ผู้ฝากเงินต้องการถอนเงินมากกว่า 1,000,000 บาท ต้องแจ้งให้ทางสหกรณ์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ เพื่อจะได้เตรียมเงินในการเบิกจ่าย
ผู้ฝากจะปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษก็ย่อมกระทำได้ โดยสหกรณ์จะคิดดอกเบี้ยให้ถึงวันก่อนวันถอนหนึ่งวัน
(3) เงินฝากประจำ ผู้ฝากย่อมไม่มีสิทธิ์ถอนเงินก่อนครบกำหนด แต่เมื่อผู้ฝากยื่นคำขอเป็นหนังสือ โดยชี้แจงความจำเป็น สหกรณ์จะยอมให้ถอนเงินฝากก่อนครบกำหนดก็ได้
**********************************************